6 วิธีบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด ดูแลได้ไม่ยาก!

เส้นเลือดที่ขดเป็นก้อนขยุกขยิกสีม่วงทําให้ขาคุณดูไม่น่ามอง และบางที่ยังอาจทําให้เจ็บและคันอีกด้วย มีวิธีการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดอยู่หลายวิธีที่ใช้กันทั่วไป มีความปลอดภัยและได้ผล แต่ก็มีวิธีที่รุนแรงน้อยกว่านี้อีกมากมายที่ช่วยลดความเด่นชัดของเส้นเลือดขอดได้ และช่วยป้องกัน ไม่ให้เป็นมากกว่าเดิม เริ่มจากการกินอาหารที่มีเส้นใยมาก และยกขาขึ้นสูงทุกครั้งที่ทําได้

อาการของโรคเส้นเลือดขอด

หลอดเลือดเป็นช่องทางเดียวในการลําเลียงเลือดในสู่หัวใจ โดยจะมีลิ้นคอยกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนผิดทาง เมื่อลิ้นกั่นเหล่านี้อ่อนแอ ซึ่งมักเป็นที่ขา ประกอบกับมีแรงโน้มถ่วงดึงเลือดให้ไหลลงไปคั่งข้างล่าง หลอดเลือดก็จะพองขึ้น ทําให้ดูเป็นก้อนตะปุ่มตะป่า เส้นเลือดขอดมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ แต่ผู้ที่ต้องยืนนานๆ โดยเฉพาะยืนนิ่งตลอดทั้งวันก็มีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดเช่นกัน


 6 สิ่งที่ควรทำเมื่อคุณเป็นเส้นเลือดขอด 

เส้นเลือดขอด สามารถควบคุมและบรรเทาให้น้อยลงได้ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามในการปรับอิริยาบท รวมถึงดูแลตัวเองด้วยการแช่น้ำอุ่นร่วมด้วย วันนี้เราจึงได้นำเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยให้อาการเส้นเลือดขอดของคุณบางเบาลง จนขากลับมาเนียนใสเหมือนเดิมมาฝากคุณผู้อ่านกันเช่นเคย จะมีวิธีไหนบ้าง ตามไปดูกันได้เลยค่ะ


#1 ยกขาสูงเข้าไว้

นอนยกขา

  • นอนเอนหลังบนโซฟาหรือเก้าอี้นวม ยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ เนื่องจากเส้นเลือดขอดเป็นผลจากการที่มีเลือดมาคั่งในหลอดเลือด การนอนยกเท้าจึงเท่ากับปล่อยเลือดที่มาคั่งให้ไหลกลับลงสู่หัวใจ ถ้ากําลังวุ่นวายกับสารพัดงานบ้าน ก็ปลีกเวลาหยุดพักมานั่งเอกเขนกอย่างนี้บ้าง หรือแม้แต่เวลาอยู่ที่ที่ทํางาน คุณอาจนั่งเอนหลัง แล้วยกขาให้สูงไว้สักพัก
  • ถ้าไม่ชอบการนอนนิ่งๆ คุณอาจลองเล่นโยคะท่าง่ายๆ โดยนอนราบ ใกล้ผนัง ยกเท้ายันฝาผนังไว้ งอเข่าให้ขาทํามุม 45 องศา ทําท่านี้ค้างไว้ 3 นาที หายใจลึกๆ และสม่ําเสมอ

#2 หาตัวช่วยดี ๆ ช่วยบำรุงหลอดเลือดของเรา

ชามะนาว

  • กินใบบัวบก โดยอาจกินในรูปสารสกัดก็ได้ ขนาดที่ใช้คือ 200 มก. วันละ 3 ครั้ง สมุนไพรชนิดนี้ช่วยให้ผนังหลอดเลือดและเนื้อเยื่อที่เชื่อมอยู่รอบๆ แข็งแรงขึ้น จากการศึกษาในอิตาลีพบว่า หลอดเลือดของคนที่กินใบบัวบกทํางานได้ดีขึ้นมาก แต่อย่ากินหากกําลังตั้งครรภ์
  • เติมเปลือกมะนาวลงในเครื่องดื่มประเภทน้ําส้มหรือชา ในเปลือกมะนาวมีสารรูติน (rutin) ฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เลือดซึมออกตามหลอดเลือดฝอย
  • กินวิตามินซีและฟลาโวนอยด์ทุกวัน วิตามินซีช่วยให้เนื้อเยื่อที่เชื่อมและพยุงหลอดเลือดคงความแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี ฟลาโวนอยด์ช่วยให้ร่างกายนําวิตามินซีไปใช้ได้ดีขึ้น วิธีใช้คือ กินวิตามินซีขนาด 500 มก. และฟลาโวนอยด์ 250 มก. วันละ 2 ครั้ง แต่ลดขนาดวิตามินซีลงถ้าคุณเริ่มมีอาการท้องเสีย
  • กินอาหารที่มีสารประกอบ  Oligomeric proanthocyanidin complexes : OPCs สารชนิดนี้เป็น ฟลาโวนอยด์ประเภทหนึ่งที่มีอยู่ในผักและผลไม้เกือบทุกชนิด แต่มีมากในแครนเบอร์รี บลูเบอร์รี และพบในสารสกัดจากเมล็ดองุ่น เปลือกสน และชาเขียว นอกจากนี้ยังมีอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (กินวันละ 150-300 มก.) โอพีซีช่วยทําให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น และลดโอกาสที่จะเกิดการรั่วซึม ในการศึกษาผู้เป็นเส้นเลือดขอดครั้งหนึ่งพบว่า คนที่ได้รับโอพีซีมีอาการดีขึ้นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับ ที่มีอาการดีขึ้นร้อยละ 41
  • ในต่างประเทศมีการใช้ต้นฮอร์สเชสต์นัต (horse chestnut) รักษาอาการ เส้นเลือดขอดมาแต่โบราณ ในปัจจุบันก็ยังมีการใช้กันอยู่ เพราะเชื่อว่าช่วยทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่นขึ้น และทําให้ลิ้นกั้นในหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น วิธีใช้คือ กินครั้งละ 250 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากครบ 3 เดือนแล้ว ให้กินวันละครั้งก็พอ

#3 ร้อนสลับเย็น ช่วยแก้ปัญหาเส้นเลือดขอด

ขากระตุก-02

ร้อนสลับเย็นช่วยได้ เมื่อสัมผัสอุณหภูมิที่แตกต่างกัน หลอดเลือดก็จะขยายตัวและหดตัวสลับกันไป ทําให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ครั้งต่อไปเมื่ออาบน้ํา เปิดน้ําร้อนให้ไหลผ่านขาสัก 1-3 นาที จากนั้นเปลี่ยนเป็นน้ําเย็นในเวลาเท่าๆ กัน ทํา 3 ครั้ง โดยปิดท้ายด้วยน้ําเย็น

ข้อควรระวัง!

แม้วันที่ต้องยืนหรือเดินต่อเนื่องอย่างยาวนานจะทําให้คุณปวดขา และอยากจะเอาขาไปแช่น้ำร้อนให้มันผ่อนคลายแค่ไหนก็ตาม แต่อย่าตามใจตัวเองเด็ดขาด เพราะแม้การใช้น้ําเย็นสลับน้ําร้อนจะได้ผลดี แต่การนั่งแช่น้ําร้อนอย่างเดียวนานๆ จะยิ่งทําให้หลอดเลือดคุณบวมยิ่งขึ้น

#4 ใช้ถุงน่องเป็นตัวช่วย

ผู้หญิงที่เป็นเส้นเลือดขอดเล็กๆ จะรู้สึกสบายขาขึ้นเมื่อสวมถุงน่องแบบกระชับต้นขา ถุงน่องแบบนี้ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความดันที่ขา ช่วยให้หลอดเลือดไม่โป่ง หาซื้อถุงน่องกระชับต้นขาได้ตามร้านขายยาและห้างสรรพสินค้าทั่วไป

ถ้าเส้นเลือดขอดที่คุณเป็นมีขนาดใหญ่ คุณต้องสวมถุงน่องรัดขา (elastic stockings) ซึ่งจะรัดแน่นบริเวณข้อเท้าและค่อยๆ หลวมขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นมาถึงขา ความดันที่แบ่งตามระดับช่วยให้เลือดสูบฉีดกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น สําหรับผู้หญิง ถุงน่องแบบรัดแน่นใช้ได้ผลดีที่สุด หลายบริษัทผลิตถุงน่องแบบรัดเป็นพิเศษที่ขยายกว้างขึ้นบริเวณรอบเอวและส่วนท้องสําหรับสตรีมีครรภ์ด้วย

ควรสวมถุงน่องรัดขาก่อนลุกขึ้นจากเตียง โดยนอนหงายยกขาขึ้นสูงในอากาศ สวมถุงน่องโดยม้วนถุงน่องขึ้นมาให้เท่ากันทั้งสองข้าง แต่ต้องระวังอย่าให้รู้สึกแน่นบริเวณน่องและขาหนีบ


 Tips:   รู้หรือไม่ ?

การสวมรองเท้าส้นเตี้ยแทนรองเท้าส้นสูงช่วยได้มาก เพราะรองเท้าส้นเตี้ยหรือรองเท้าไม่มีส้น ทําให้คุณได้ เกร็งกล้ามเนื้อน่อง จึงช่วยสูบฉีดเลือดขึ้นสู่ขาส่วนบนได้ดี และช่วยลดอาการเส้นเลือดขอดได้ด้วย


#5 เปลี่ยนอิริยาบทให้เลือดไหลเวียนบ้าง

นวดขา

  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งนานๆ เพราะถ้าคุณอยู่ในท่าไหนนานเกินไป จะทําให้เลือดลงไปคั่งที่ขา และยิ่งทําให้มีอาการมากขึ้น
  • เมื่อถึงเวลาพัก ลองหาเวลาเดินไปเดินมาบ้าง ตราบใดที่คุณได้ขยับขา เลือดก็จะไหลสู่ด้านบนได้ดีขึ้น
  • ไม่ว่าจะยืนหรือนั่ง ควรหาเวลาหยุดพักสักชั่วโมงละครั้ง งอเท้าขึ้น แล้วกระดกเท้าขึ้นลงสัก 10 นาทีเพื่อบริหารกล้ามเนื้อน่อง เพราะกล้ามเนื้อพวกนี้อยู่ติดกับหลอดเลือด การเกร็งกล้ามเนื้อจะช่วยบีบหลอดเลือด ทําให้เลือดไหลกลับขึ้นสู่หัวใจ
  • เวลานั่งทุกครั้งอย่านั่งไขว่ห้าง เมื่อคุณไขว้ขาข้างหนึ่งไว้บนขาอีกข้าง คุณกําลังเพิ่มความดันให้แก่หลอดเลือดอย่างไม่เหมาะสม และขัดขวางการไหลกลับของเลือดสู่หัวใจ
  • ออกกําลังกายแบบแอโรบิกสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อรักษารูปร่าง และเพื่อลดน้ําหนัก (ถ้าคุณมีน้ําหนักเกิน) ออกกำลังด้วยการเดินจะดีที่สุด เพราะทุกครั้งที่หดหรือเกร็งกล้ามเนื้อ เป็นการช่วยสูบฉีดเลือดกลับไปที่หัวใจ
  • นวดขาเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด โดยการกดหัวแม่มือทั้งสองข้างลงที่กล้ามเนื้อ (แต่ไม่ใช่กดลงตรงหลอดเลือด) และบีบนวดไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ สู่หัวใจ

#6 อย่าให้ท้องผูกเชียว

ท้องผูก-001

ควรกินอาหารที่มีเส้นใยอาหารมาก เช่น ซีเรียลธัญพืชต่างๆ แอปเปิล และ ผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือก รวมทั้งถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีด้วย เส้นใยอาหารช่วยป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งมักสร้างแรงดันมาขัดขวางการไหลเวียนของเลือดจากขา และทําให้เกิดความดันในหลอดเลือดในขาส่วนล่าง


  Warning   เมื่อไรที่คุณควรไปพบแพทย์

เส้นเลือดขอดมักเป็นปัญหาด้านความความงามมากกว่าปัญหาสุขภาพ แต่ก็ต้องปรึกษาแพทย์ถ้าคุณรู้สึกเจ็บ หรือถ้าผิวหนังเหนือบริเวณที่เส้นเลือดขอดเริ่มลอก นอกจากนี้ ต้องพบแพทย์ทันทีถ้าหลอดเลือดแตกและมีเลือดออก หรือถ้ารู้สึกเจ็บเวลาเดิน อาการเลือดคั่งอาจเป็นมากขึ้นถ้ามีอาการบวม เป็นแผล และมีรอยแดงที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือถ้าเห็นว่าขาบวมทั้งสองข้าง ต้องไปพบแพทย์ทันทีที่คุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้


 

 

 

 

 

 

 

error: Content is protected !!