5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนขี้ลืมให้เป็นคนจำแม่น
จากที่ก่อนหน้านี้ ป่วยให้น้อย.com ได้เคยพูดเรื่องความจำมีปัญหาไปแล้ว ถ้าคุณรู้สึกว่าช่วงนี้ขี้หลงขี้ลืม เรามีวิธีบริหารสมองดังต่อไปนี้มาแนะนำให้ลองทำตามกันดูนะคะ เพื่อที่จะได้ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพความจําของคุณให้กลับมาเหมือนในสมัยวัยรุ่นได้บ้าง ซึ่งรับรองว่า ถ้าใครปฏิบัติทั้ง 5 ข้อด้านล่างนี้อย่างเป็นประจำแล้ว อาการขี้หลงขี้ลืมจะลดน้อยลงไปอย่างแน่นอนเลยค่ะ
1. ลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดบ้าง
ถ้าเราต้องการที่จะเพิ่มวงจรใหม่ ๆ ให้แก่สมอง ให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดมาทํากิจกรรมประจําวัน วันละหลาย ๆ ครั้งดู เช่น ถ้าปกติคุณแปรงฟันด้วยมือขวา ก็ให้เปลี่ยนมาใช้มือซ้าย หรือถ้าคุณรูดซิปด้วยมือซ้ายก็เปลี่ยนมาใช้มือขวาแทน สมองจะรู้ว่าคุณใช้มือผิดข้าง เนื่องจากข้อมูลทางประสาทและการเคลื่อนไหวที่ได้รับจากมือข้างนั้น ความสับสนเช่นนี้จะกระตุ้นให้เกิดวงจรใหม่ในสมอง เพราะสมองพยายามที่จะจัดการกับกิจกรรมใหม่ตามข้อมูลที่ได้มา ให้ใช้วิธีนี้กับกิจวัตรประจําวันที่ง่ายๆ และไม่มีอันตรายเท่านั้น คุณคงไม่อยากถือมีดหั่นอาหารด้วยมือข้างที่ไม่ถนัดหรอก
2. พยายามฝึก “จำ” บ่อย ๆ
เมื่อพยายามจําข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง ให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่จะช่วยให้คุณจําได้ง่าย อาจเป็นวลี สูตร หรือคําคล้องจอง เช่น ถ้าคุณอยากจําว่าพยัญชนะไทยตัวใดบ้างที่เป็นอักษรกลาง (มี 9 ตัว คือ ก จ ด ต บ ป อ ฎ ฏ) คุณอาจจําเป็นวลีว่า “ไก่จิกเด็กตาย บนปากโอ่ง ฎ ฏ” ก็ได้ เทคนิคเดียวกันนี้สามารถใช้ในกรณีอื่น ๆ ด้วย เช่น การจํารายการสิ่งที่ต้องทําหรือของที่ต้องซื้อ อีกวิธีคือให้คุณเขียนรายการไว้กันลืม
3. ฝึกผูกเรื่องต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงกัน
เทคนิคช่วยจําอีกอย่างหนึ่งซึ่งใช้ได้ดีกับการจําสิ่งที่ต้องทําคือ การผูกเป็นเรื่องสั้นๆ ยิ่งสนุกสนาน เหลือเชื่อก็ยิ่งดี สมมุติว่าวันนี้คุณต้องไป ธนาคาร ห้องสมุด ร้านขายยา และแวะบ้านเพื่อนที่ชื่อ”ป้อม” เพื่อคืนหนังสือ คุณอาจแต่งเรื่องว่า “เจ้าป้อมคนขายเนื้อ จะไปซื้อยา แต่ไม่มีเงิน จึงไปปล้นธนาคารแล้วหนีไปซ่อนตัวในห้องสมุด” โดยสิ่งสำคัญก็คือ คุณไม่ต้องอิงกับความจริงมากนัก ยิ่งตื่นเต้นและตลกมากเท่าไร ก็จะทำให้สมองคุณจดจำได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ
4. ฝึกเล่นเครื่องดนตรีสัก 1 ชิ้น
อีกวิธีที่ช่วยลับสมอง ให้ลองหัดเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลอง เปียโน กีตาร์ ระนาด ขิม ฯ การหัดเล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว และช่วยปรับความสามารถของสมองในการวิเคราะห์และเพ่งสมาธิให้ดีขึ้น เคยสังเกตุไหมคะว่า นักกีตาร์หลาย ๆ คน แม้จะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถจำโน๊ตดนตรี และโซโล่ได้เป็นอย่างดี โดยไม่หลงไม่ลืมเลย นั่นเพราะว่าสมาธิที่จดจ่อ ทำให้สมองทำงานได้เป็นอย่างดี และเป็นการเพิ่มวงจรใหม่ ๆ เข้าไปในสมองอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
5. อย่าหยุดที่จะเรียนรู้
คุณควรจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทักษะใหม่ ๆ เนื้อหาวิชาการใหม่ ๆ รวมถึงการฝึกจดจำอยู่เสมอ อย่าไปคิดว่าจำไม่ได้แล้ว จดเอาก็พอ หรือว่าฝากทุกอย่างเอาไว้ให้แอพพลิเคชั่นในมือถือเป็นคนจัดการให้ เพราะว่าการที่จะทำให้เราห่างไกลจากโรคความจำเสื่อมได้นั้น ก็คือต้องมีการ “ออกกำลังกายสมองอยู่เสมอ ๆ” การที่เราใช้สมองอยู่เป็นประจำ จะทำให้สมองทํางานเรื่อยๆ และถดถอยน้อย มีงานวิจัยระบุว่า ผู้ที่ศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอด ทั้งในเรื่องของวิชาการและเรื่องของการเรียนภาษานั้น จะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยที่สุด ทว่า สิ่งสําคัญไม่ได้อยู่ที่ปริมาณการเรียนรู้จากตําราสมัยที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา แต่อยู่ที่ว่าคุณออกกําลังสมองมากน้อยแค่ไหน การเล่นปริศนาอักษรไขว้ เรียนรู้ภาษาที่สอง ล้วนช่วยบริหารสมองให้ความจำดีทั้งนั้น
บทส่งท้าย
“สมอง” ก็เหมือนกับ “ร่างกาย” ถ้าอยากให้ร่างกายแข็งแรง เราก็จะต้องแบ่งเวลาบริหารร่างกาย สมองก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราปล่อยสมองลอย ๆ ไม่พยายามคิด หรือจดจำอะไรบ้าง ก็จะทำให้วงจรในสมองค่อย ๆ ดับไปทีละวงจร ในที่สุด พออายุเริ่มมาก เราก็จะเริ่มจำอะไรไม่ได้ ดังนั้นก็อย่าลืมบริหารสมอง ด้วยเคล็ดลับดี ๆ 5 ข้อ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ดูนะคะ