4 เคล็ดลับการปฏิบัติตัว เมื่อมีอาการกรดไหลย้อน

อาการแสบแน่นหน้าอกเกิดจากอะไร?

อาการแสบแน่นหน้าอกและเสียดท้องนั้นทรมานมาก อีกทั้งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ค่อยได้ บางคนโทษว่าเพราะ “กินมากไป” หรือ “กินเร็วไป” บางคนก็โทษว่าเกิดจากการทานอาหารรสจัด เช่น แกงเผ็ดหรือ เครื่องเทศนานาชนิด หลายคนบอกว่ามะนาว ส้ม หรืออาหารที่มีกรดเป็นตัวการสําคัญ ในขั้นแรกคุณอาจใช้ยาแอนตาซิดหรือยาลดกรดทั่วไป เช่น รานิติดีน โอเมปราโซล หรือซิเมติดีน แต่เป้าหมายระยะยาวอยู่ที่การหาตัวการที่ทําให้คุณเกิดอาการนี้แล้วหลีกเลี่ยงเสีย

สาเหตุและอาการของโรคกรดไหลย้อน

ปกติกล้ามเนื้อปลายหลอดอาหารจะเป็น “ประตูกล” ป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาได้ แต่หากเกิดความผิดปกติทําให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร คุณจะรู้สึกแสบอกหรือเสียดท้อง สาเหตุอาจมาจากการกินอาหารมื้อใหญ่และอาหารบางประเภท ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ตั้งครรภ์ น้ําหนักเกิน การสูบบุหรี่ กล้ามเนื้อหูรูดไม่ดี (hiatus hernia) นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยา คลายเครียด ยาระงับประสาท อาจทําให้อาการรุนแรงขึ้น


4 เคล็ดลับการปฏิบัติตัว เมื่อมีอาการกรดไหลย้อน

อาการแสบแน่นหน้าอก เป็นสัญญาณเตือนของโรคกรดไหลย้อน หากใครเริ่มมีอาการแสบแน่นหน้าอก ควรจะเริ่มดูแลตัวเองตามวิธีด้านล่าง เพื่อที่จะได้หายจากอาการ และป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อนในระยะยาวด้วย จะมีวิธีอะไรบ้าง ไปดูกันดีกว่าค่ะ


#1 ดับไฟแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยให้แสบร้อนได้

ชาร้อน

  • ทันทีที่เริ่มรู้สึกแสบแน่นหน้าอก ให้ดื่มน้ําเปล่า 1 แก้วใหญ่ซึ่งจะช่วยไล่กรดกลับลงไปในกระเพาะอาหาร
  • เตรียมชาร้อนแก้แสบแน่นหน้าอก โดยใช้ขิงสดขูดฝอย 1 ช้อนชา ใส่ลงในน้ําเดือด 1 ถ้วย ทิ้งไว้ 10 นาทีก่อนดื่ม นอกจากจะบรรเทาอาการคลื่นไส้แล้ว ขิงยังช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดอาหารและทําให้กรดในกระเพาะไม่ถูกดันขึ้นมา
  • ชาที่ชงจากเครื่องเทศจําพวกยี่หร่าหรือเมล็ดเฟนเนล (fennel) ใช้บรรเทาอาการแสบแน่นหน้าอกได้เช่นกัน ใส่เครื่องเทศ 2 ช้อนชาในน้ําเดือด 1 ถ้วย แช่ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วกรองออกก่อนดื่ม
  • ผู้นิยมการรักษาแบบอายุรเวทแนะนําให้ดื่มชาที่ชงจากอบเชยหรือกระวาน (บุบหรือผงก็ได้) โดยใส่เพียง 1 ช้อนชา ในน้ําร้อนเดือด 1 ถ้วย แช่ทิ้งไว้ สักครู่แล้วกรองกากทิ้งก่อนดื่ม

#2 ทำให้กรดในกระเพาะลดลง

น้ำผัก

  • น้ําลายทําให้กรดในกระเพาะอาหารมีความเป็นกลางมากขึ้น คุณอาจเคี้ยวหมากฝรั่งแบบไม่มีน้ําตาล ดูดอะไรหวานๆ หรือนึกถึงอาหารอร่อยๆ เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ําลาย
  • เบคกิ้งโซดา (bicarbonate of soda) มีฤทธิ์เป็นอัลคาไลน์ (alkaline) ทําให้กรดในกระเพาะเป็นกลาง ผสมผงเบคกิ้งโซดา 1/2 ช้อนชากับน้ํามะนาว 2-3 หยดในน้ําอุ่น 1 ถ้วย อย่าดื่มเบคกิ้งโซดาเจือจางเพียงอย่างเดียว การผสมน้ํามะนาวลงไปจะช่วยไล่แก๊สในกระเพาะ ซึ่งเกิดจากเบคกิ้งโซดาลงไปเจอกับกรดในกระเพาะอาหาร
  • น้ําผักต่างๆ เช่น แครอท แตงกวา หรือบีทรูท มีอัลคาไลน์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน สามารถเติมเกลือหรือพริกไทยลงไปด้วยก็ได้ ถ้าไม่สะดวกคั้นน้ํา ผักบางชนิดสามารถกินสดๆได้เลย

#3 การป้องกันเพื่อไม่ให้กรดไหลย้อนเล่นงานเราได้

  • ไม่ว่าจะรู้สึกแย่แค่ไหนให้ยืนเข้าไว้ แรงโน้มถ่วงจะเป็นตัวดึงกรดให้อยู่ในกระเพาะ หลีกเลี่ยงการก้มตัวลงหลังทานอาหาร และที่แน่ๆ อย่านอนทันที หลังกินอาหารเสร็จ ควรเดินเล่นสัก 10-15 นาทีก่อน
  • ถ้าอาการเสียดท้องมักเป็นตอนกลางคืน ให้เปลี่ยนมากินอาหารอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อเปิดโอกาสให้กรดในกระเพาะลดลงเสียก่อน
  • คุณอาจลองยกส่วนหัวเตียงขึ้นสัก 10-15 ซม. เมื่อคุณนอนเอน แรงโน้มถ่วงจะช่วยกักกรดในกระเพาะเอาไว้
  • ลองนอนตะแคงซ้ายดู เมื่อคุณตะแคงมาทางซ้าย กระเพาะอาหารจะห้อยลงมา และน้ําย่อยจะไหลมากองกันอยู่บริเวณแอ่งกระเพาะ ซึ่งห่างจากปลายหลอดอาหาร
  • กินน้อยๆ แต่บ่อยขึ้น เพื่อลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร การกินอาหารคราวละมากๆ ทําให้ปลายหลอดอาหารเปิดกว้างขึ้น เปิดโอกาสให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาเล่นงานคุณได้มากขึ้น
  • เลิกสูบบุหรี่ งานวิจัยระบุว่าการสูบบุหรี่ทําให้กล้ามเนื้อปลายหลอดอาหารหย่อน และแม้ว่าคุณไม่ได้เป็นผู้สูบเอง การอยู่ในที่มีควันบุหรี่มากก็ส่งผลเสียแบบเดียวกัน

#4 อาหารที่ควรเลี่ยง สำหรับคนที่เป็นกรดไหลย้อน

หลีกเลี่ยงของมัน

ถ้าคุณมีอาการแสบหน้าอกและเสียดท้องบ่อย ๆ นี่เป็นอาหารที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ ควรที่จะหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้

  • เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลทําให้กล้ามเนื้อปลายหลอดอาหารคลายตัว
  • นม ดื่มแล้วรู้สึกดีก็จริง แต่ไขมัน โปรตีน และแคลเซียมในน้ํานมมีส่วนทําให้มีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
  • กาแฟ ชา และเครื่องดื่มโคล่า คาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลต่อกล้ามเนื้อปลายหลอดอาหาร และอาจทําให้หลอดอาหารที่อักเสบอยู่นั้นเกิดการระคายเคืองได้
  • ช็อกโกแลต เต็มไปด้วยไขมันและคาเฟอีน ซึ่งเป็นตัวการสําคัญของอาการแสบหน้าอก
  • เครื่องดื่มน้ําอัดลม ทําให้กระเพาะอาหารพองตัว ส่งผลต่อกล้ามเนื้อปลายหลอดอาหารเหมือนกับการกินมากเกินไป
  • อาหารทอดๆ มันๆ มักจะอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินควร ทําให้เกิดกรดมากขึ้น
  • ผลไม้และน้ําผลไม้ประเภทส้ม มีความเป็นกรดอยู่ แม้จะอ่อนมากเมื่อเทียบกับกรดในกระเพาะ
  • เป็ปเปอร์มินต์ สเปียร์มินต์ สะระแหน่ มะเขือเทศ ทําให้กล้ามเนื้อปลายหลอดอาหารคลายตัว

 


  Warning   เมื่อไรที่คุณควรไปพบแพทย์

อาการแสบแน่นหน้าอก หรือกรดไหลย้อน อาจไม่ใช่โรคร้าย แต่ถ้าเป็นบ่อย คุณอาจเป็นโรคเกี่ยวกับการไหลย้อนของน้ําย่อยในหลอดอาหาร ซึ่งอาจทําให้เป็นแผลในหลอดอาหารและไอเรื้อรัง ถ้าคุณมีอาการแสบแน่นหน้าอก 3-4 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ติดต่อกันหลายสัปดาห์ หรือมีอาการไอแหบ กลืนอาหารลําบาก หรือน้ําหนักลดฮวบฮาบ ควรพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการของโรคมะเร็ง โดยเฉพาะถ้าคุณอายุเกิน 40 ปี บางครั้งอาการแสบแน่นหน้าอกที่รุนแรงอาจคล้ายอาการโรคหัวใจกําเริบเฉียบพลัน แต่ถ้าเป็นหลังอาหารและบรรเทาได้ด้วยน้ําหรือยาลดกรด น่าจะเป็นอาการแสบแน่นหน้าอกทั่วไป แต่ถ้ารู้สึกแน่น หรือเจ็บหน้าอก หายใจขัด หรือหน้ามืดและเหงื่อออก ต้องรีบพบแพทย์ทันที


 

 

error: Content is protected !!