ข้ออักเสบคืออะไร?
ในปัจจุบันนี้มีคนจํานวนไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ โดยมักเกิดจากการออกกำลังกาย กระโดด หรือวิ่งมากๆ ข้ออักเสบมีมากกว่า 100 ประเภท แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ “ข้อเสื่อม” อาการคือ ข้ออักเสบ ปวด บวม และเคลื่อนไหวลําบาก อาการปวดนั้นเกิดจาก “การบาดเจ็บและเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นคล้ายวัสดุรองรับแรงกระแทกอยู่ในข้อ เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมสลายไป ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อแคบลง กระดูกจะเสียดสี และบดทับกันเอง” ข้อเสื่อม เกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ แต่ที่พบบ่อยคือเมื่ออายุเกิน 45 ปี โดยมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ ข้ออักเสบประเภทอื่น ๆ ที่พบบ่อยคือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน
เคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ ปวดข้อต่าง ๆ
หากคุณหรือคนรอบข้าง กำลังต้องเผชิญกับอาการปวดจากข้ออักเสบ ไม่ว่าจะเป็นปวดข้อมือ ปวดข้อเข่า ปวดข้อเท้า วันนี้ ป่วยให้น้อย.com ก็มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้คุณคลายอาการปวดข้อ และเคลื่อนไหวได้ตามปกติมาฝากกันด้วยค่ะ จะมีวิธีไหนน่าสนใจบ้าง ลองไปดูกันได้เลย
1 ยาบรรเทาปวดช่วยได้
- ควรกินอาหารเสริมกลูโคซามีน และคอนดรอยดินซัลเฟต เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อและโรคข้อเสื่อม มีข้อมูลยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ชนิดนี้ใช้ได้ผลดีกับโรคข้ออักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง คุณควรกินตามคําแนะนําบนฉลากอย่างเคร่งครัด และอย่าใจร้อน เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนจึงจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น และจะช่วยบรรเทาอาการได้หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ 1 ปีขึ้นไป
- กินขิงผงวันละ 1 ช้อนชา หรือขิงสดวันละ 35 กรัม (ประมาณ 6 ข้อนชา) มีงานวิจัยพบว่าเหง้าขิงสามารถบรรเทาอาการอักเสบและปวดข้อได้ เพราะเพิ่มการไหลเวียนเลือด และยังยับยั้งการสร้างสารเคมีในร่างกายที่ทําให้อักเสบ
- กิน SAM-e (S-adenosylmethionine) วันละ 400 มก. SAM-e เป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบด้วยการเพิ่มระดับสารโปรตีโอไกลแคน(proteoglycan) ในเลือด โปรตีโอไกลแคนมีบทบาทสําคัญในการปกป้องกระดูกอ่อน โดยรักษาสภาพ กระดูกอ่อนและเพิ่มปริมาณออกซิเจนในข้อ มีงานวิจัยพบว่า SAM-e มีประสิทธิภาพบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบได้เท่ากับยาไอบูโพรเฟน
ถ้าคุณใช้ SAM-e วันละ 800 มก. แล้วอาการดีขึ้น เมื่อใช้ครบ 2 สัปดาห์ ให้ลดปริมาณลงเหลือวันละ 400 มก. SAM-e มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารคือ ทำให้จุกเสียดท้องและคลื่นไส้ แต่สามารถใช้ร่วมกับยาชนิดต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามผู้ที่กินยารักษาโรคซึมเศร้า หรือโรคพาร์คินสัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
2 บําบัดด้วยความร้อนและความเย็น
- ประคบร้อนบริเวณข้อที่ปวด ช่วยบรรเทาปวดได้ดี โดยอาจใช้ถุงน้ําร้อน ผ้าชุบน้ําร้อน ประคบบริเวณข้อที่มีอาการปวด ประมาณ 20 นาที การอาบน้ำอุ่นก็ช่วยได้เช่นกัน
- บําบัดด้วยความเย็น ความเย็นจะช่วยลดอักเสบได้ สามารถใช้ผ้าขนหนูห่อน้ําแข็งพันไว้รอบข้อที่อักเสบ หรืออาจใช้กระป๋องเครื่องดื่มแช่เย็นแทนก็ได้
3 สวมถุงมือก่อนนอน
- ถ้ามีอาการข้อนิ้วมือติดขัดและบวมในตอนเช้า แล้วคุณเป็นคนชอบนอนเปิดแอร์เย็นจัดด้วยล่ะก็ ให้สวมถุงมือที่แน่นพอดีก่อนเข้านอน ถุงมือจะช่วยป้องกันอาการบวมได้ดี แต่ถ้าสวมถุงมือเข้านอนแล้ว อาการเลวร้ายลง ควรหยุดใช้วิธีนี้
4 เพิ่มความหล่อลื่นให้ข้อต่อ
- กินปลาที่มีไขมันมากเพิ่มขึ้น เช่น ปลาแม็กเคอเรล ปลาแซลมอน และ ปลาซาร์ดีน ในไขมันปลาเหล่านี้มีกรดไขมันโอเมกา-3 อยู่มาก โอเมกา-3 ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย จึงพบว่ามีหลายคนที่กินโอเมกา-3 เป็นอาหารเสริมแล้วมีอาการปวดข้อและข้อติดน้อยลง
- กินอาหารเสริมอาหารน้ํามันปลา มีงานวิจัยพบว่าโอเมกา-3 จากน้ํามันตับปลาช่วยลดหรือบรรเทาภาวะเสื่อมของกระดูกอ่อนได้ วิธีใช้คือ โอเมกา-3 ขนาด 2,000 มก. วันละ 3 ครั้งพร้อมอาหาร ผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือด หรือมีคอเลสเตอรอลสูง หรือเป็นเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินน้ํามันปลา
- คุณอาจกินน้ํามันปอ (flaxseed oil) หรือน้ํามันเมล็ดลินินแทนน้ํามันปลา เพราะมีโอเมกา-3 เหมือนกัน โดยกินวันละ 1 ช้อนโต๊ะ อาจกินแต่น้ํามันปออย่างเดียว หรือผสมกับน้ําส้มหรือใช้ทําน้ําสลัดก็ได้
- กินถั่วเปลือกแข็ง เพราะในถั่วมีกรดไขมันจําเป็นอยู่
5 นวดบรรเทาปวด
- หยดน้ํามันยูคาลิปตัส 2-3 หยดลงบนผิวแล้วนวด สามารถช่วยบรรเทาปวดได้ดี แต่ไม่ควรนวดน้ํามันแล้วประคบร้อน เพราะอาจทําให้เกิดอาการแสบร้อน และระคายเคืองผิว
- แคปเซอิซิน เป็นสารให้รสเผ็ดร้อนในพริกที่มีการนํามาใช้ เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์รักษาอาการปวดข้อ แคปเซอิซินออกฤทธิ์รบกวนการทํางานของเส้นประสาท ทั้งนี้เพราะสามารถลดปริมาณสารพี (substance P) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่นําความเจ็บปวดจากเส้นประสาทส่วนปลายไปยังสมอง จึงบรรเทาอาการปวดข้อ ปัจจุบันมีครีมหรือขี้ผึ้งหลายชนิดที่ระบุว่ามีส่วนผสมจากพริก คุณสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
6 เคลื่อนไหวและบริหารข้อที่ปวดอยู่เสมอ
- การออกกําลังเบาๆ เช่น เดิน ว่ายน้ํา ถีบจักรยาน หรือโยคะ ช่วยบรรเทาอาการปวดและข้อติด ถ้ามีอาการอักเสบที่ข้อเท้า หัวเข่า หรือสะโพก ควรใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน หรือใช้ในระยะแรกเพื่อป้องกันข้อบาดเจ็บ หากข้ออักเสบและบวม ควรหยุดออกกําลังกายอย่างน้อย 1 วัน
- ปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบําบัดเรื่องการยกน้ําหนักฝึกกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะช่วยพยุงและรองรับแรงกระแทกบริเวณข้อได้
7 วัดความยาวขาทั้ง 2 ข้าง
- ผู้ที่มีอาการข้อสะโพกหรือข้อเข่าอักเสบควรให้แพทย์วัดความยาวขาทั้งสองข้าง ผู้ป่วยข้ออักเสบกลุ่มนี้ราว 1 ใน 5 มีขาข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งอาจต้องขอคําแนะนําจากแพทย์เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญมาตัดรองเท้าให้โดยเฉพาะ
8 ฟังพยากรณ์อากาศบ้างนะ
- อากาศเปลี่ยนแปลงอาจทําให้ข้ออักเสบอาการกําเริบ เนื่องจากอากาศที่ชื้นหรือภาวะความกดอากาศลดลงอย่างรวดเร็ว มีผลต่อการไหลเวียนเลือดบริเวณข้อที่อักเสบ หากพยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีพายุ ควรเตรียมตัวโดยเปิดเครื่องดูดความชื้นไว้ล่วงหน้า
9 พยายามลดน้ำหนักด้วย
- การควบคุมน้ําหนักตัวให้เหมาะสมช่วยป้องกันข้อเข่าเสื่อมได้ ไม่ว่าน้ําหนักปัจจุบันของคุณจะเป็นเท่าใดก็ตาม การลดน้ําหนักลง 5 กก. และ คงไว้อย่างน้อย 10 ปี ช่วยลดโอกาสเป็นโรคข้อเข่าอักเสบได้
- ผู้ที่ออกกําลังกายด้วยการเดินเป็นประจํา ควรเปลี่ยนเส้นทางเดินทุกวัน การเดินบนพื้นผิวหลายประเภทช่วยป้องกันการบาดเจ็บซ้ําบริเวณข้อเดิม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการเดินบนเส้นทางเดิม
- เลือกรองเท้าใส่เดินที่ถูกหลักสรีรวิทยา โดยต้องมีพื้นหนานุ่มบริเวณ ส้นเท้าเพื่อช่วยลดแรงกระแทกบริเวณเท้า ข้อเท้า ขา เข่า และข้อสะโพก พื้นรองเท้าที่แบนราบจะป้องกันข้อเข่าได้ดีที่สุด
- งานวิจัยล่าสุดพบว่าวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเสื่อมและชะลออาการของโรคได้ เพราะจะป้องกันกระดูกเสื่อมจากการทําลายของอนุมูลอิสระ ควรกินวิตามินซีวันละ 500 มก.
Tips ปวดแบบไหน ถึงเวลาไปพบแพทย์ ?
หากมีอาการปวด บวม แดง หรือเคลื่อนไหวติดขัดบริเวณข้อใดข้อหนึ่ง หรือไม่ทราบว่าเป็นข้ออักเสบประเภทใด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค สําหรับผู้ที่เป็นข้ออักเสบอยู่แล้ว แต่มีอาการผิดปกติอื่นเพิ่มเติม ก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน