มีบุตรยากควรทำอย่างไรบ้าง กินอะไร หรือจะปฏบัติการรักในช่วงไหนดี

อยากมีลูกต้องทำยังไงดี?

คุณเข้าข่ายมีลูกยากไหม ลองมาหลากหลายวิธี ทำตามคนนู้นคนนี้แนะนำก็แล้ว แต่ทำไมยังไม่ตั้งครรภ์สักที ปัจจุบันทางการแพทย์พบว่าอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหญิงและชายได้เท่าๆ กัน และบางเรื่องคุณอาจจะมองข้ามไป เรามีวิธีแนะนำตามแบบตํารับพื้นบ้านมาฝากโดยจะแบ่งออกตามเพศชายและหญิง และเมื่อทราบปัญหาแล้วลองแก้ไขร่วมกันดู ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายก็ตาม การแก้ไขปัญหาย่อมต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทั้งสองฝ่าย จึงจะได้ผลดีที่สุด

จะรู้ได้ยังไงว่า คุณเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มผู้มีบุตรยากแล้ว

ภาวะมีลูกยากคือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คุมกําเนิดเป็นเวลา 1 ปีแล้วยังไม่มีลูก สาเหตุที่พบบ่อยในผู้หญิงคือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ มีพังผืดในมดลูก รอบเดือนไม่สม่ําเสมอ ไข่ไม่สมบูรณ์ และปัญหาฮอร์โมน ผู้หญิงบางคนมีความผิดปกติแต่กําเนิดแอบแฝง ทําให้มดลูกหรือท่อนําไข่ผิดปกติ หรือ มีไข่ตกไม่สม่ําเสมอจนไม่สามารถมีลูกได้ ส่วนความผิดปกติของผู้ชายที่พบบ่อยคือ จํานวนอสุจิน้อย ผิดปกติ หรืออสุจิมีรูปร่างหรือการเคลื่อนไหวผิดปกติ จึงไม่สามารถว่ายไปผสมกับไข่ได้สําเร็จ


จะทำอย่างไรดี ถ้าอยากมีลูก


สําหรับผู้หญิง

1. ตรวจสอบเวลาตกไข่

  • ช่วงเวลาที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงที่สุดคือ 5 วันก่อนมีการตกไข่และ 1 วันหลังตกไข่ คุณอาจสังเกตจากมูกปากมดลูก หรือที่เรามักเรียกว่าตกขาวหรือระดูขาว ตามปกติตกขาวจะเป็นเมือกใสคล้ายแป้งเปียก อาจมีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ได้ แต่จะไม่ทําให้เกิดอาการคัน เมื่อเริ่มตกไข่ร่างกายของผู้หญิงจะผลิตมูกปากมดลูกมากขึ้น ตกขาวจึงเปลี่ยนเป็นเมือกบางใส (ทําให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ง่าย) สามารถตรวจสอบได้โดยใช้กระดาษทิชชู่เช็ดบริเวณอวัยวะเพศเป็นระยะ หากมีเมือกใสคล้ายไข่ขาวดิบแสดงว่าถึงเวลาตกไข่แล้ว
  • คุณอาจทดสอบการตกไข่โดยใช้ชุดตรวจการตกไข่ซึ่งมีขายที่ร้านขายยาทั่วไป เป็นอุปกรณ์ทดสอบง่ายๆ คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ บางชนิดเป็นการตรวจปัสสาวะ บางชนิดจะตรวจน้ําลาย หากคุณใช้ชุดทดสอบตรวจพบว่าไม่มีการตกไข่ติดต่อกันเกิน 3 เดือน ก็ควรไปพบแพทย์

2. ลดน้ําหนักหรือเพิ่มน้ําหนัก

  • บางคนจําเป็นต้องลดน้ําหนักเพื่อให้ร่างกายพร้อมสําหรับการตั้งครรภ์ เนื่องจากไขมันในร่างกายสามารถผลิตเอสโตรเจนได้ การมีเอสโตรเจนมากเกินไปทําให้ตั้งครรภ์ยาก
  • ผอมเกินไปก็ทําให้มีลูกยากเช่นกัน หากไขมันในร่างกายมีน้อยเกินไปมักทําให้การตกไข่ผิดปกติหรือตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกไม่ได้ หากคุณผอมเกินไป ควรบํารุงร่างกายด้วยอาหารที่มีพลังงานและมีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชไม่ขัดขาว และไขมันที่มีประโยชน์ เช่น น้ํามันมะกอก

3. ผ่อนคลายบ้าง

  • หากคุณใช้งานร่างกายอย่างหนักอยู่เสมอย่อมไม่เหมาะกับการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกําลังกายมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน มักทําให้การตกไข่ผิดปกติ ภาวะนี้มักเกิดกับนักกีฬาหญิงหรือนักเต้นบัลเลต์หญิง ดังนั้ ผู้ที่ออกกําลังกายหักโหมควรเพลาลงบ้าง
  • อย่าเครียดกับงานจนเกินควร มีงานวิจัยพบว่าผู้หญิงซึ่งคร่ําเคร่งกับงานที่มีความเครียดสูงมักมีปัญหาตั้งครรภ์ยาก ดังนั้นคุณควรกําหนดเป้าหมายงานที่ไม่สูงเกินไป ทิ้งเรื่องเครียดไว้ที่ทํางาน อย่านํากลับบ้าน หรือลองฝึกวิธีคลายเครียด เช่น ทําสมาธิ หรือโยคะ

4. ระมัดระวังการใช้ยา

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านฮิสตามีนและยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยากลุ่มนี้ช่วยลดน้ํามูกในโพรงจมูก แต่มีผลต่อปริมาณตกขาวหรือมูกปากมดลูกด้วย คุณต้องมีตกขาวหรือมูกปากมดลูกมากพอจึงจะช่วยให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ควรกินยาไอบูโพรเฟนหรือแอสไพรินหากต้องการตั้งครรภ์ เพราะยาแก้อักเสบเหล่านี้อาจรบกวนวงจรการตกไข่ และทําให้ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วไม่สามารถฝังตัวในผนังมดลูก หากต้องการกินยาบรรเทาปวด ควรเลือกใช้พาราเซตามอลแทน
  • ถ้าไม่แน่ใจว่ายาที่ทานอยู่เป็นประจำส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ ควรนำไปปรึกษาแพทย์

สําหรับผู้ชาย

1. สะสมปริมาณอสุจิ

  • งดมีเพศสัมพันธ์ 2-3 วันก่อนฝ่ายหญิงตกไข่ ยิ่งเว้นระยะการมีเพศสัมพันธ์นานเท่าใด ก็ยิ่งทําให้มีอสุจิมากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสประสบความสําเร็จมากขึ้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์กันในวันที่ฝ่ายหญิงตกไข่ด้วย
  • สวมกางเกงชั้นในชนิดบอกเซอร์หรือกางเกงขาสั้นแบบหลวม กางเกงในชนิดกระชับเป้ามักมีความร้อนสะสม ทําให้จํานวนอสุจิในลูกอัณฑะลดลง กางเกงยีนส์ชนิดรัดแน่นก็เช่นกัน ดังนั้นหากต้องการเป็นคุณพ่อกับเขาเสียที ควรสวมใส่กางเกงหลวมๆ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ําอุ่นหรืออบไอน้ํา

อยากท้องต้องกินอะไร – อาหารเสริมสุขภาพที่ควรกินเมื่ออยากตั้งครรภ์


1. สังกะสี

คุณอาจเสริมธาตุสังกะสีวันละ 30 มก. แร่ธาตุชนิดนี้จะกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและเพิ่มจํานวนอสุจิ นอกจากนี้ยังทําให้อสุจิแข็งแรงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ธาตุสังกะสีจะทําให้ร่างกายดูดซึมทองแดงลดลง จึงควรกินทองแดงเสริมวันละ 2 มก. ในช่วงที่กินสังกะสี

2. วิตามินซี

อสุจิของคุณอาจถูกทําลายด้วยอนุมูลอิสระ (อนุภาคไม่เสถียรที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกาย และเป็นสาเหตุให้เซลล์ในร่างกายเกิดการเสื่อมสภาพ) จึงควรป้องกันด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซีวันละ1,000 มก. และวิตามินอี 250 มก. โดยกินพร้อมอาหารวันละ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กินยาป้องกันเลือดแข็งตัวหรือยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินวิตามินอี

3. ซีลีเนียม

กินซีลีเนียมเสริม มีการศึกษายืนยันว่าผู้ชายที่กินซีลีเนียมเสริมวันละ 1,000 ไมโครกรัม เป็นเวลา 3 เดือน แม้จะไม่มีผลต่อปริมาณอสุจิ แต่พบว่าอสุจิมีการเคลื่อนไหวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

4. น้ำมันปอ Flaxseed Oil

กินน้ํามันปอ (flaxseed oil) หรือน้ํามันเมล็ดลินินเป็นประจํา มีหลักฐานเบื้องต้นบางประการที่บ่งชี้ว่า กรดไขมันจําเป็นซึ่งพบมากในน้ํามันจากเมล็ดปอหรือเมล็ดลินินนี้ช่วยบํารุงให้อสุจิแข็งแรง แม้ยังไม่มีรายงานยืนยันแน่ชัด แต่น้ํามันปอช่วยลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจได้ผลจริง ดังนั้นควรกินวันละ 1 ช้อนโต๊ะพร้อมอาหาร ใช้ผสมกับน้ําผลไม้ โยเกิร์ต น้ําสลัด หรืออาหารที่คุณชอบ สําหรับทั้งชายและหญิง


สิ่งที่จำเป็นต้องลดละเลิกให้ได้เมื่ออยากมีลูก


1. หยุดสูบบุหรี่

  • การสูบบุหรี่นั้น นอกจากลดสมรรถภาพในการสืบพันธุ์ของชายและหญิงแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งลูกด้วย ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะทําให้มีไข่ในรังไข่ลดจํานวนลงเร็วกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ ส่วนผู้ชายที่สูบบุหรี่นั้นจะมีปริมาณอสุจิลดลง และมีอสุจิที่ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย

2. หยุดแอลกอฮอล์และคาเฟอีน

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สําหรับผู้ชายนั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะลดสมรรถภาพในการหลั่งอสุจิ ส่วนกรณีของผู้หญิงนั้น แม้ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์ขนาดปานกลางมีผลเสียหรือไม่ แต่การที่ฝ่ายหญิงยอมงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จะช่วยให้ฝ่ายชายเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งยาบางชนิด จะช่วยเพิ่มสมรรถภาพการสืบพันธุ์ให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ปฏิบัติการรักช่วงไหน ถึงจะติดลูกได้ง่ายที่สุด


1. เมื่อถึงช่วงเวลาไข่ตกของผู้หญิง ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน

2. หากคุณไม่ได้ตรวจสอบเวลาไข่ตก ทั้งโดยวิธีตรวจดูมูกปากมดลูกหรือใช้ชุดตรวจการตกไข่ ให้นับวันไข่ตก วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาตรงตามปกติ โดยทั่วไปคือประมาณ 28 วันจะมีประจำเดือนมาอีกครั้ง ไข่จะตกช่วงกลางรอบเดือนระหว่างประจำเดือนวันแรกของรอบที่แล้วกับประจำเดือนวันแรกของรอบถัดไป ดังนั้นประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือนนับจากประจำเดือนวันแรกเป็นวันที่ไข่น่าจะตก แม้ว่าจะไม่แน่เสมอไปว่าเป็นวันนั้น แต่ก็จะอยู่ในช่วงกลางระหว่างรอบเดือนสองรอบนั้น ดังนั้นควรมีเพศสัมพันธ์กันในช่วงที่คาดว่าจะมีการตกไข่

3. ถ้าไม่แน่ใจกับวิธีการนับวันไข่ตก ควรมีเพศสัมพันธ์ทุกวันเว้นวัน ตั้งแต่วันที่ 8 ถึงวันที่ 20 ของรอบเดือน (นับวันแรกของการมีประจําเดือนครั้งล่าสุดเป็นวันที่ 1) เนื่องจากอสุจิจะมีอายุ 3 วัน การมีเพศสัมพันธ์วิธีนี้ทําให้มีอสุจิเข้าไปเตรียมพร้อมผสมกับไข่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเกิดไข่ตกวันใดก็ตาม

4. บันทึกอุณหภูมิร่างกายหลังตื่นนอนทุกวันเพื่อหาวันไข่ตก จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อผู้หญิงไข่ตก ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย และอุณหภูมิจะคงที่ในระดับสูงนี้ไปจนประจำเดือนมาอุณหภูมิถึงจะลดลง นอกจากนี้ ในช่วงนี้จะรู้สึกว่ามีของเหลวออกมาทางช่องคลอดมีลักษณะเป็นเมือกใส ลื่น คล้ายไข่ขาว ถ้าคุณบันทึกอุณหภูมิเป็นประจำทุกวันหลายๆ เดือน คุณจะพอคาดเดาวันที่ไข่จะตกล่วงหน้าได้ ข้อเสียของวิธีนี้คือ บันทึกอุณหภูมิร่างกายจะช่วยให้คุณรู้ว่าการตกไข่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่บอกได้แค่หลังจากที่ไข่ตกแล้ว

5. ดูจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และอารมณ์ วิธีการนี้เป็นเพียงการสังเกตุร่างกาย และอารมณ์ในเบื้องต้น ถ้าต้องการความแม่นยำควรใช้วิธีการทดสอบอื่นๆ ร่วมด้วย ในช่วงใกล้ไข่ตกหรือในวันไข่ตกอาจพบอาการต่างๆ เหล่านี้

  • พบมูกไข่ตก
  • อวัยยะเพศเต่งขึ้น ช่องคลอดแน่นขึ้น
  • รู้สึกปวดหน่วงๆ ที่ช่องท้องข้างใดข้างหนึ่ง
  • พบรอยเลือดจางๆ
  • รู้สึกมีความต้องการทางเพศมากขึ้น
  • รู้สึกหน้าอกคัด
  • มีอาการท้องอืด
  • มีความรู้สึกไวต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้กลิ่นและรสชาติ

เมื่อไรที่ควรไปคลีนิกเพื่อปรึกษาคุณหมอเรื่องมีบุตรยาก


ผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปีและต้องการมีลูกควรปรึกษาแพทย์ หากไม่ตั้งครรภ์เองภายใน 6 เดือน แพทย์จะหาวิธีช่วยเพื่อให้มีลูก ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปีและต้องการมีลูก ควรรอจนครบ 1 ปี หากยังไม่มีลูกจึงปรึกษาแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยฝ่ายชายควรมาตรวจพร้อมกับฝ่ายหญิง เพราะจําเป็นต้องตรวจอสุจิด้วย


เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการตกไข่


– การมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีความวิตกกังวล เครียด อาจส่งผลต่อการตกไข่และปริมาณไข่ที่ตกได้

– ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาไม่สม่ำเสมอ ไม่ควรใช้วิธีการนับวันไข่ตก

– แม้ว่าผู้หญิงจะมีไข่จำนวนมากเป็นล้านใบ แต่ว่าในแต่ละเดือนจะมีไข่เพียงแค่ใบเดียวเท่านั้นที่ตก และจะมีอายุเพื่อรอการปฏิสนธิเพียง 12 – 24 ชั่วโมงเท่านั้นหลังจากที่หลุดออกมาจากถุงไข่ (อสุจิสามารถอยู่ในท่อนำไข่ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมงหากไข่ยังตกมาไม่ถึง และอสุจิใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 6 ชั่วโมง)

– ไข่ตกสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะไม่มีประจำเดือน และประจำเดือนสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะไม่มีไข่ตก

– ผู้หญิงบางคนอาจพบมีเลือดออกมาเล็กน้อยในช่วงที่ไข่ตก

– ผู้หญิงบางคนอาจจะรู้สึกเจ็บแปลบที่บริเวณท้องน้อยซึ่งใกล้กับถุงไข่ในช่วงที่ไข่กำลังหลุดออกมา

– ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับตัวอสุจิ จะสลายตัวและซึมเข้าไปในโพรงมดลูกเอง


การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ก็สำคัญ


ก่อนตั้งครรภ์ควรจะตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด ตรวจหาโรคทางกรรมพันธุ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่เกี่ยวกับเลือดก่อน หากมีใครคนใดคนหนึ่งมีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือโรคประจำตัวจะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อการวางแผนการมีบุตรได้อย่างปลอดภัย

รายการตรวจเช็คก่อนการตั้งครรภ์

  • ตรวจร่างกายทั่วไป อย่างละเอียด เช่น ตรวจความดันโลหิต วัณโรค โลหิตจาง โรคติดต่อต่างๆ
  • ตรวจวัดระดับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพราะโรคที่มีสาเหตุจากเลือด สามารถติดต่อทางพันธุกรรมจากแม่ไปสู่ลูกได้ เช่น
  • * โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดผิดปกติ ส่งผลให้ลูกมีการเจริญเติบโตช้า เด็กบางคนจะมีตับม้ามโต ตัวซีดเหลือง หากมีอาการรุนแรง อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • * โรคฮีโมฟิเลีย เป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์  ซึ่งทำให้ มีอาการเลือดออกง่าย แต่หยุดยาก
  • * โรคพร่องเอมไซม์ G-6-PD เป็นโรคประจำตัวที่อยู่กับเราตลอดชีวิต หากเม็ดเลือดแดงเอนไซม์แตก ลูกตัวจะซีดเหลือง มีอาการเหมือนดีซ่าน และถ้าหากเม็ดเลือดแดงแตกมาก ก็อาจจะทำให้เกิดอาการชีอคได้
  • ตรวจกรุ๊ปเลือด เพื่อสะดวกในการหากรุ๊ปเลือดในกรณีฉุกเฉิน
  • การตรวจหาเชื้อเอดส์ ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และสามารถติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส เป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอาจจะเกิดกับทารกที่มีมารดาเป็นซิฟิลิส
  • ตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคที่สามารถติดต่อไปยังลูกและคู่สมรส ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นโรคตับเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับและโรคตับแข็ง เราสามารถป้องกันได้โยการฉีดวัคซีนคุ้มกัน ดังนั้นก่อนที่เราจะฉีดวัคซีน ทางโรงพยาบาลจะขอตรวจเลือดเพื่อขอเช็กว่าเรามีภูมิคุ้มกันแล้วหรือยัง
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันเชื้อหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการไขข้ออักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นผื่นตามตัว และเป็นโรคที่สามารถติดต่อไปยังคู่สมรสและลูกได้ และถ้าเป็นในรายหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจจะทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์พิการ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนและไม่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ สำหรับผู้ไม่แน่นใจว่าเคยเป็นโรคหัดเยอรมัน หรือเคยฉีดวัคซีนหรือไม่อาจจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันและให้คุมกำเนิดหลังจากฉีด 3 เดือน

ตัวอย่างรายการที่ควรตรวจก่อนการตั้งครรภ์

– ตรวจร่างกายโดยแพทย์ (Physical Examination )

– ตรวจฟันโดยทันตแพทย์ (Dental Screening)

– ตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย  (Hemoglobin Typing)

– ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC)

– ตรวจหมู่เลือด (ABO) และชนิดของหมู่เลือด (Rh)

– ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสเอดส์ (Anti HIV)

– ตรวจไวรัสตับอักเสบบี (ตรวจหาเชื้อ HbsAg , ตรวจหาภูมิ HbsAb)

– ตรวจหาเชื้อกามโรค ซิฟิลิส (VDRL)

– ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสเอดส์ (Anti HIV)

– ตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน (Rubella lgG)

– เอ็กเรย์ปอด (CXR)


การใช้งานเครื่องตรวจการตกไข่แต่ละประเภท


เครื่องตรวจการตกไข่ เป็นเครื่องมือที่มีส่วนช่วยให้มีลูกได้ง่ายขึ้น ประเภทของเครื่องตรวจการตกไข่ มีอะไรบ้าง เราไปทำความรู้จักกันดีกว่า

1. แบบหลุมหยดปัสสาวะ (cassette)

วิธีใช้คือ ให้นำชุดทดสอบวางบนพื้นราบ และใช้หลอดพลาสติกที่ให้มาในซองดูดปัสสาวะขึ้นมา โดยอาจจะเตรียมไว้ในถ้วย จากนั้นให้หยดปัสสาวะลงในหลุมทดสอบ 2 หยด ช้าๆ โดยให้หยดแรกซึมลงก่อนค่อยหยดครั้งที่สอง รอประมาณ 3-5 นาที จึงอ่านผลการทดสอบ

2. แบบปัสสาวะไหลผ่าน (Midstream)

วิธีใช้คือ ให้ดึงปลอกที่ปลายแท่งตรวจออก และให้จับแท่งตรวจโดยให้ด้านที่เราถอดปลอกชี้ลงพื้น และปัสสาวะให้ไหลผ่านอย่างทั่วถึงประมาณ 10 วินาที ระวังอย่าให้ปัสสาวะโดนช่องดูผลการตรวจ จากนั้นให้ใส่ปลอกปิดเข้าที่เดิม และวางแท่งตรวจในที่ราบ รอประมาณ 10 นาทีค่อยอ่านผลการทดสอบ

3. แบบแท่งจุ่มปัสสาวะ (Strip)

วิธีใช้คือ ให้จุ่มแท่งตรวจการตกไข่ โดยให้ด้านที่มีหัวลูกศรจุ่มลงในถ้วยปัสสาวะ จุ่มไม่เกินแถบที่กำหนด ทิ้งไว้ประมาณ 5 วินาที จากนั้นให้นำแถบทดสอบวางในที่ราบและแห้งสะอาด รอประมาณ 5 นาที แล้วค่อยอ่านผลการทดสอบ

ข้อควรรู้

การเช็คการตกไข่โดยใช้เครื่องตรวจการตกไข่นั้น ไม่ควรทำการปัสสาวะในช่วงเวลา 4 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ และไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจด้วยเช่นกัน

error: Content is protected !!