ปวดข้อมือ – สาเหตุ อาการ และวิธีดูแลรักษา

ปวดข้อมือ อาจเป็นอาการของโรคเส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บ

ภายในข้อมือของเรามีพังผืดแบ่งกั้นเป็นโพรงแคบ ซึ่งมีเส้นเอ็น 9 เส้นและเส้นประสาทมีเดียนอยู่ภายใน หากเส้นเอ็นอักเสบและบวม จะทําให้เส้นประสาทโดนบีบรัด ส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนไหวข้อมือซ้ํา ๆ สาเหตุอื่นที่พบคือ ตั้งครรภ์ กินยาเม็ดคุมกําเนิด ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เบาหวาน และน้ําหนักเกิน อาการสําคัญของโรคนี้คือ เจ็บแปลบคล้ายเข็มแทง ชาปลายนิ้วและนิ้วหัวแม่มือ เจ็บแปลบจากข้อมือขึ้นไปตามแขน ปวดคอหรือหัวไหล่ และมืออ่อนแรง

เมื่อมีอาการปวดข้อมือจากโรคเส้นประสาทข้อมืออักเสบอย่างรุนแรง ก็จําเป็นต้องหยุดพักงานเช่นกัน เมื่อแพทย์อนุญาตให้เริ่มใช้ข้อมือได้บ้าง คุณควรใช้เฝือกอ่อนดาม กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และออกกําลังเพื่อให้ฟื้นสภาพเร็วขึ้น เมื่อหายเป็นปกติแล้ว ควรหาวิธีป้องกันและบริหารข้อมือเป็นประจําเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง


4 วิธี ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการปวดข้อมือจากเส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บ

วันนี้ ป่วยให้น้อย.com ได้รวบรวมสารพันวิธีที่จะช่วยให้อาการปวดข้อมือ จากโรคเส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บทุเลาลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกมาฝากกันด้วย ลองไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง


#1 วิธีการบรรเทาอาการปวดข้อมือ

นวดข้อมือ

  • ความเย็นจะช่วยบรรเทาปวดและลดอักเสบได้อย่างรวดเร็ว ใช้ผ้าขนหนูห่อน้ําแข็งประคบข้อมือนาน 10 นาที โดยทําซ้ําทุกชั่วโมง
  • ความร้อนก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน โดยจะช่วยคลายกล้ามเนื้อ คุณอาจแช่มือและข้อมือในน้ําอุ่นจัดนาน 12-15 นาที และควรทําก่อนนอนทุกคืน แต่หากอาการแย่ลงควรหยุดทํา เพราะความร้อนอาจทําให้ความดันในข้อมือเพิ่มขึ้น
  • นวดข้อมือวันละ 2 ครั้งด้วยขี้ผึ้งผสมอาร์นิกา (arnica) สมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณลดอักเสบและบรรเทาปวดได้ดี ใช้ขี้ผึ้งอาร์นิกาขนาดเท่าเมล็ดถั่วป้ายบนข้อมือด้านใน แล้วใช้นิ้วโป้งค่อยๆ นวดให้ทั่วข้อมือและฝ่ามือส่วนล่าง คุณควรนวดทุกวันตอนเช้าและเย็นจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • บางคนพบว่าการสะบัดข้อมือเร็วๆ ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อมือได้ โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • สวมเฝือกอ่อนดามข้อมือก่อนนอน บางครั้งขณะนอนหลับคุณอาจงอพับข้อมือหรือสอดไว้ใต้หมอน ทําให้ข้อมือถูกกดทับ เฝือกอ่อนช่วยดามข้อมือให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม และลดการกดทับเส้นประสาทในข้อมือ คุณสามารถหาซื้อเฝือกอ่อนได้ที่ร้านขายยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ต้องเลือกขนาดที่พอดีกับข้อมือและควรศึกษาวิธีใช้ที่ถูกต้องจากเภสัชกร
  • บางครั้งคุณควรสวมเฝือกอ่อนเวลากลางวันด้วย เช่น ขณะทํางานที่ต้องเคลื่อนไหวมือบ่อยๆ

#2 เลือกกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยด้วยอีกทาง

ขมิ้นชันบำรุงับ-ลดการอักเสบในร่างกาย

  • โบรมีเลน (bromelain) เป็นเอนไซม์จากสับปะรดที่ช่วยย่อยสลายโปรตีนซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ โบรมีเลนจึงบรรเทาการอักเสบของเส้นประสาทข้อมือได้ รวมทั้งลดอาการปวดและทําให้หายเร็วขึ้น หน่วยวัดของโบรมีเลนคือ เอ็มซียู (MCU: milk-cloting unit) เมื่อจะใช้โบรมีเลนในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรเลือกชนิดที่มีโบรมีเลนอย่างน้อย 2,000 เอ็มซียู เมื่ออาการกําเริบ กินครั้งละ 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรลดเหลือครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง โดยกินขณะท้องว่างเท่านั้น หากกินใกล้มื้ออาหารประสิทธิภาพจะลดลง
  • กินน้ํามันปอ (flaxseed oil) หรือน้ํามันเมล็ดลินินวันละ 1 ช้อนโต๊ะ อาการจะดีขึ้นหลังจากกินครบ 2 สัปดาห์ น้ํามันปอประกอบด้วยกรดไขมันโอเมกา-3 ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ หากกินพร้อมอาหารจะดูดซึมดีขึ้น คุณอาจผสมกับน้ําส้มคั้นหรือน้ําสลัดก็ได้
  • เคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นสารต้านการอักเสบที่พบในขมิ้นชัน แพทย์อายุรเวทในอินเดียใช้ขมิ้นชันเป็นยาบรรเทาปวดและลดอักเสบมานานแล้ว เนื่องจากการใช้ขมิ้นชันเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารอย่างเดียวมักไม่ได้ผล จึงมักใช้ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขมิ้นชัน ที่ประกอบด้วยเคอร์คูมิน 95 % ขนาด 300 มก. วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร
  • กินแมกนีเซียมขนาด 300 มก. โดยกิน 2-3 ครั้งต่อวัน แมกนีเซียมช่วยเสริมการทํางานของระบบประสาทและคลายกล้ามเนื้อ แร่ธาตุชนิดนี้มีมากในรัญพืชไม่ขัดขาว ถั่วต่างๆ ผักใบเขียว และปลา รูปแบบที่ดูดซึมได้ดีที่สุด คือแมกนีเซียมซิเตรต (magnesium citrate) การกินแมกนีเซียมอาจทําให้เกิดผลข้างเคียงคือถ่ายเหลว ซึ่งสามารถบรรเทาด้วยการลดปริมาณหรือลองเปลี่ยนเป็นแมกนีเซียมกลูโคเนต (magnesium gluconate)

#3 ระวังการใช้แป้นพิมพ์

ปวดข้อมือจากการใช้คอม

  • ผู้ที่ทํางานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรปรับเก้าอี้และแป้นพิมพ์ให้เหมาะสม ข้อศอกควรงอ 90 องศาเพื่อให้ข้อมือขนานกับพื้น หัวเข่าควรงอ 90 องศาเช่นกัน และควรนั่งหลังตรง ไม่ห่อไหล่
  • หากสามารถปรับตําแหน่งได้ ควรให้แป้นพิมพ์อยู่ต่ํากว่าข้อมือเล็กน้อย เพื่อให้คุณสามารถวางปลายนิ้วพักบนแป้นพิมพ์ได้
  • กดแป้นพิมพ์เบาๆ อย่ากระแทก
  • เลือกอุปกรณ์ที่ใช้งานสะดวกสบายและถูกหลักกายศาสตร์ (ergonomic) เช่น แท่นรองข้อมือซึ่งมีขายในร้านเครื่องเขียน
  • แป้นพิมพ์ที่ออกแบบมาให้รับกับข้อมือ (contoured keyboard) หรือแยกเป็นสองชิ้น บางครั้งเรียกว่า ergonomic keyboard จะออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ข้อมืออยู่ในท่าที่เหมาะสมตามหลักกายศาสตร์ ช่วยให้การเคลื่อนไหวนิ้วมือขณะพิมพ์เป็นไปอย่างเบาแรง (แป้นกดต้องการแรงกดน้อยกว่าแป้นพิมพ์ทั่วไป) แป้นพิมพ์ชนิดรับกับข้อมือจะแยกแป้นกดเป็น 2 ชุดบนแผงเดียวกัน และมีส่วนรองรับข้อมือทั้งสองข้าง ส่วนชนิดแยกเป็นสองชิ้นจะ มี 2 ส่วนแยกจากกัน ทําให้ปรับมุมรับกับข้อมือได้ตามความถนัดของแต่ละคน

 Tips:   รู้หรือไม่ ?

เส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บไม่ได้เกิดจากการใช้ข้อมือมากเกินควรเสมอไป แต่ยังอาจเกิดจากกิจกรรมที่ทํา ซ้ําๆ เช่น เล่นเปียโน ตอกตะปู นักดนตรี ช่างไม้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บมากกว่าบุคคลอื่น


#4 วิตามินบีช่วยเรื่องเส้นประสาทอักเสบ

วิตามินบี

  • แม้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าวิตามินบี6 สามารถรักษาเส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บ แต่ประสิทธิภาพของมันยังไม่แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยืนยันว่าใช้ได้ผล แต่มีจํานวนไม่น้อยที่คัดค้าน นอกจากนี้ การกินวิตามินบี6 มากเกินไป (มากกว่า 50 มก. ต่อวัน) เป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายต่อประสาท
  • อย่างไรก็ตามการกินวิตามินบี6 เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจมีประโยชน์กับโรคนี้ เพราะวิตามินบี6 ทําให้เส้นประสาททํางานเป็นปกติ และอาจเพิ่มการนําสัญญาณประสาทมาที่มือ บางคนเชื่อว่าเส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บเกิดจากการขาดวิตามินบี6 ข้อเท็จจริงคือ ร่างกายของบางคนต้องการวิตามินบี6 มากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ ความเครียดยังทําให้ร่างกายใช้บี6 เพิ่มขึ้นด้วย
  • วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรกินอาหารที่มีวิตามินบี6 เป็นประจํา เช่น อกไก่ ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ ปลาแซลมอน ผักใบเขียว และไข่แดง หากกินเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้กินวันละ 50 มก. แบ่ง เป็น 2-3 ครั้งจนกระทั่งอาการดีขึ้น หากต้องการกินเป็นประจํา ควรลดปริมาณเหลือวันละ 10 มก.

 


  Warning   เมื่อไรที่คุณควรไปพบแพทย์

ถ้าอาการปวดรบกวนกิจวัตรประจําวัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะทําให้มือไม่มีแรงหยิบจับสิ่งของ และปวดอย่างรุนแรงที่แขนหรือหัวไหล่ บางครั้งโรคนี้อาจเกี่ยวพันกับโรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน และภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานน้อย แพทย์จึงมักตรวจร่างกายผู้มีอาการเส้นประสาทข้อมือบาดเจ็บอย่างละเอียด เพื่อยืนยันว่าไม่มีโรคเหล่านี้ด้วย


 

 

error: Content is protected !!