การวัดความดัน – วิธีวัดความดันเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้อง

ปัจจุบัน การวัดความดันโลหิต สามารถทำเองได้ที่บ้านโดยง่าย เพราะเครื่องวัดความดันในปัจจุบันนี้ จะเป็นเครื่องวัดความดันแบบอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องมีการเสียบหูฟังเพื่อฟังเสียงเหมือนอย่างที่คุณหมอใช้ แต่ว่าค่าที่ได้นั้นจะมีความแน่นอนเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องวัดความดัน และวิธีวัดความดัน ที่ใช้ด้วย

วิธีวัดความดันโลหิต

การวัดความดันที่ถูกต้อง มีข้อควรระวังและข้อปฏิบัติดังนี้

  • ก่อนวัดความดัน 30 นาที ไม่ควรดื่มกาแฟ หรือสูบบุหรี่
  • วางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ เพื่อให้ได้ค่าความดันที่แม่นยำที่สุด
  • ไม่นั่งไขว่ห้าง เพราะมีผลทำให้ความดันสูงขึ้น 6-8 มิลลิเมตรปรอท
  • ไม่อั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้ความดันที่ได้ สูงขึ้นเกิน 6 มิลลิเมตรปรอท
  • นั่งพักให้หายเหนื่อย ก่อนที่จะวัดความดัน
  • ไม่ควรวัดความดันหลังทานอาหาร
  • การพันผ้ารัดแขน ควรพันข้างที่ใช้งานน้อย เช่นถ้าถนัดมือขวา ก็ให้สอดผ้ารัดแขนที่แขนข้างซ้าย โดยระวังอย่าให้สายงอหรือสายพับ
  • กรณีวัดความดันครั้งแรกแล้วสูงมาก ให้นั่งพักประมาณ 15 นาที แล้วค่อยวัดใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ตารางแสดงค่าความดันโลหิตปกติและสูง

การวัดความดัน ต้องวัดบ่อยแค่ไหน?

  • สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคความดันสูง ปกติควรจะวัดความดันอย่างน้อย ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อประเมินสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีเครื่องวัดความดันอยู่ที่บ้านแล้ว ก็อาจจะวัดความดันทุกๆ 3-4 เดือนก็ได้ เพราะการวัดความดันไม่ได้เจ็บปวดหรือเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ซึ่งถ้ามีความดันเริ่มสูงขึ้น เราก็จะสามารถแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
  • สำหรับผู้ที่มีความดันอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่เคยวัดความดันแล้วอยู่ในช่วงตั้งแต่ 120-129/80-89 กล่าวคือ มีค่าความดันตัวบนอยู่ระหว่าง 120 ถึง 129 หรือเคยวัดแล้วมีค่าความดันตัวล่างอยู่ระหว่าง 80-89 เช่นนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่มีโอกาสจะเป็นโรคความดันสูงได้มาก โดยเฉพาะถ้ามีอายุเกินกว่า 30 ปีขึ้นไป ควรปรับการใช้ชีวิต ลดอาหารเค็มลง เพิ่มการออกกำลังกายอย่างจริงจัง และควรวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง เพื่อติดตามการขึ้นลงของความดันอย่างเป็นประจำ และถ้าสำหรับผู้ที่มีเครื่องวัดความดันอยู่ที่บ้าน อาจจะวัดความดันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินความดันตัวเองอย่างใกล้ชิด
  • สำหรับผู้ที่มีค่าความดันที่วัดได้ตั้งแต่ 140/90 ขึ้นไป ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นโรคความดันสูงหรือไม่ ซึ่งถ้าแพทย์ยืนยันว่าเป็นโรคความดันสูงจริง ควรรีบแก้ไขโดยการออกกำลังกาย ลดอาหารโซเดียม เพิ่มการทานผักผลไม้ ลดความเครียด ลงโดยทันที เพื่อให้มีโอกาสที่จะหายจากโรคความดันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งในโรคความดันสูงนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจจะต้องทานยาเพื่อควบคุมไปตลอดชีวิต

การวัดความดันด้วยตัวเอง

การวัดความดันด้วยเครื่องวัดความดันที่บ้าน จะเชื่อค่าความดันจากเครื่องวัดได้ไหม?

การวัดความดันด้วยตัวเองที่บ้าน เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคความดันสูงทุกคน ในผู้สูงอายุที่มีความดันสูงมาก คุณหมอหลายๆท่าน มักจะให้ผู้ป่วยวัดความดัน ในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอนสักพัก แล้วจดบันทึกค่าไว้ทุกวัน เพื่อนำไปให้หมอดู เพื่อประเมินอาการ การปรับลดเพิ่มยา เพื่อติดตามการรักษาว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน โดยเครื่องวัดความดันแบบดิจิตอล ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้ จะอ่านค่าได้แน่นอนในระดับหนึ่ง และสามารถใช้งานได้ง่าย เพียงแค่กดปุ่มครั้งเดียวก็วัดความดันได้เลย แต่ว่าก็ควรเลือกยี่ห้อเครื่องวัดความดันที่น่าเชื่อถือหน่อย เพราะถ้าเน้นที่ราคาถูกอย่างเดียว อาจจะเจอปัญหาเรื่องค่าความดันที่ออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ รวมถึงควรใช้ วิธีวัดความดันที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้ได้ค่าที่เที่ยงตรงมากที่สุด

ทางโรงพยาบาลมักจะแนะนำผู้ป่วยว่า ให้นำเครื่องวัดความดันไปที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อตรวจสอบว่า ค่าความดันที่วัดได้มีความแม่นยำเพียงไร เมื่อเทียบกับเครื่องวัดความดันของที่โรงพยาบาล

ความดันโลหิตสูงในระยะเริ่มต้นนั้น จะไม่มีอาการบ่งบอกใดๆ แต่เป็นภัยเงียบที่ค่อยๆทำลายหลอดเลือดแดงของร่างกายไปทุกๆวัน ดังนั้นการวัดความดัน อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ก็เป็นการช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคความดันสูงได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่จะตามมาอีกหลายโรค

ในเรื่องของวิธีวัดความดันที่ถูกต้อง และเรื่องการวัดความดันด้วยตนเอง ก็จบลงเพียงแค่นี้ค่ะ ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม และหากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ อย่าลืมช่วยกดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยนะคะ

error: Content is protected !!