การดูแลผู้ป่วยเบาหวานเพื่อลดน้ำตาลในเลือดอย่างได้ผล
ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นเรื่อยๆทุกปี โดยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือการที่ร่างกายสร้างอินซูลินแล้ว แต่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกรณีที่เป็นมานาน และมีระดับน้ำตาลสูงมากอาจจะต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
โรคเบาหวานเป็นโรคที่คุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดี ทำให้คนไทยมีความเชื่อว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไรหรือว่าแค่หยุดกินน้ำตาลก็หายแล้ว แต่จริงๆแล้ว โรคเบาหวานต้องจัดอยู่ในโรคที่มีความร้ายแรงด้วยซ้ำไป เนื่องจากว่าสามารถเป็นต้นเหตุไปสู่โรคอื่นๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่นโรคหัวใจวาย โรคเบาหวานขึ้นตาจนทำให้ตาบอด โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน เป็นต้น
1 การควบคุมอาหาร
เมื่อเป็นเบาหวานแล้วสิ่งแรกที่ต้องดูแลอย่างเร่งด่วน ก็คือการควบคุมอาหาร โดยถ้าเป็นเบาหวานในระดับไม่มากนัก สิ่งแรกที่ต้องทำคือการลดแป้งและน้ำตาล โดยมียังไม่ต้องไปสนใจความรู้อื่นๆในเรื่องน้ำตาล ทั้งน้ำตาลในผลไม้อะไรเท่าไร หรือแป้งชนิดอะไรเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้มากน้อยแค่ไหนเลย เนื่องจากว่าเบาหวานในระยะแรกสามารถลดได้อย่างไม่ยากนัก ด้วยการควบคุมอาหารเพียงเล็กน้อยพร้อมกับการออกกำลังกายก็เพียงพอแล้ว
แต่สำหรับผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสูงมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะต้องลดแป้งลดน้ำตาลลงแล้ว ยังจะต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่า แป้งชนิดไหนทานเข้าไปแล้วให้น้ำตาลมากน้อยแค่ไหนด้วย ยกตัวอย่างเช่น ข้าวขาวกับข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ข้าวขาวจะย่อยและดูดซึมได้อย่างรวดเร็วทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานเป็นอย่างยิ่ง ส่วนข้าวกล้องจะย่อยช้ากว่า และค่อยๆให้น้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจึงดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าข้าวขาวเป็นต้น
2 การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 ถึง 40 นาที จะช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการของโรคความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดีด้วย โดยการออกกำลังกายนั้นไม่จำเป็นจะต้องออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงหรือหักโหมแต่อย่างใด สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุมากอาจจะเริ่มจากการเดินวันละ 10 ถึง 20 นาทีก่อน แล้วค่อยๆปรับระยะเวลาการเดินให้นานขึ้นก็ได้
3 เปลี่ยนความคิดใหม่เรื่องสมุนไพร
สมุนไพรในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น มะระขี้นก ตำลึง กระเทียม ชาเขียว กระเจี๊ยบ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เขาแนะนำกันว่าดี สมุนไพรเหล่านี้สามารถช่วยท่านลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่ว่าถ้าท่านไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินเลย สมุนไพรเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
ผู้ป่วยโรคเบาหวานในหลายคนมักจะพยายามตามหาสมุนไพร ที่จะช่วยลดอาการเบาหวานได้ โดยทดลองกินกันทุกอย่างที่เขาว่าดี แต่ก็พบว่า ไม่สามารถจะช่วยลดน้ำตาลในเลือดในระยะยาวได้เลย มันก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ยังกินข้าวในปริมาณที่มาก กินอาหารรสหวานจัด กินขนมจำพวกเบเกอรี่บ่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลดหรือดูแลผู้ป่วยเบาหวานอย่างได้ผล ก็คือการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลัง ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดอาจจะไม่ต้องทานยาโรคเบาหวานอีกเลยก็ได้
4 เปลี่ยนน้ำตาล
สำหรับคนที่เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอด ส่วนใหญ่แล้วก็ยังอยากที่จะทานอาหารรสหวานอยู่ หรือแม้แต่การทานกาแฟยังไงก็ยังต้องใส่น้ำตาลอยู่ดี ในปัจจุบันมีน้ำตาลอยู่ 2-3 ประเภท ที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถทานได้แล้วน้ำตาลไม่ขึ้น ได้แก่น้ำตาลจากหญ้าหวาน หล่อฮังก๊วย และอีริทริทอล
ซึ่งต้องบอกว่าในบ้านเราน้ำตาลที่โฆษณาว่าทำจากหญ้าหวานและผู้ป่วยเบาหวานสามารถทานได้นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น หากมองถึงส่วนผสมดีๆแล้ว ผลิตภัณฑ์น้ำตาลเทียมบางชนิดนั้น จะมีหญ้าหวานผสมอยู่เพียงแค่ 0.1 ถึง 1% เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะใช้สารให้ความหวานชนิดอื่นเข้ามาผสมด้วย ซึ่งก็ยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงได้อยู่ดี ในปัจจุบันยี่ห้อในท้องตลาดที่ใช้หญ้าหวานผสมกับอีริทริทอล (ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ทานได้ ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น) จะมีอยู่แค่เพียง 1-2 ยี่ห้อเท่านั้น ที่จำได้จะมีของ equal Stevia ส่วนอันอื่นจะขอนำมาเพิ่มในภายหลังนะคะ
5 ต้องเข้าใจว่าการควบคุมอาหารไม่ใช่การอดอาหาร
ผู้ป่วยเบาหวานหลายๆคน มักจะเลือกที่จะอดอาหารในมื้อเย็น ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะไม่ใช่วิธีการลดน้ำตาลที่ดีสักเท่าไหร่ เนื่องจากว่าระดับน้ำตาลในเลือด จะมีการขึ้นสูงและลงอย่างต่ำเป็นระยะเวลานานมากจนเกินไป รวมถึงการอดอาหารและทานแคลอรี่น้อยจนเกินไป ทำให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานได้ลดลงไปด้วย ดังนั้นวิธีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีที่สุด ก็คือการทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ โดยใช้วิธีควบคุมอาหารในแต่ละมื้อ โดยเน้นการทานผักใบเขียว ลดปริมาณข้าว และลดปริมาณน้ำตาลในอาหารให้มากที่สุด ซึ่งวิธีนี้จะทำให้การควบคุมโรคเบาหวานสามารถทานต่อเนื่องได้นานและได้ผลมากที่สุด